รู้หรือไหมทานเผ็ดมาก ก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

ต้องยอมรับอาหารที่มีรสชาติเผ็ดนั้นเป็นวิถีการกินของคนไทยมาก แต่จะเผ็ดมากน้อยขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล อาการเผ็ดเกิดจากสารแคปไซซินในพริก ทำให้อาหารมีรสชาติดี ทำให้เจริญอาหาร แต่คุณทราบไหมว่าการทานเผ็ดมากหรือทานเป็นประจำส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้เป็นโรคร้ายได้

ทานเผ็ดมากส่งผลเสียอะไรต่อสุขภาพบ้าง? 

การทานอาหารรสเผ็ดเป็นประจำมักส่งผลเสียต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น 

  • ช่องปาก – การกินเผ็ดมากเกินไปทำให้เกิดการแสบร้อนในช่องปาก และอาจส่งผลต่อลิ้น เหงือก ริมฝีปาก แก้ม เพดานปาก สารแคปไซซินจะทำให้เยื่อบุต่างๆระคายเคือง รวมทั้งทำให้ปากแห้ง หิวน้ำ และสูญเสียการรับรสไปชั่วขณะหนึ่ง 
  • ระบบทางเดินอาหาร – สารเเคปไซซินอาจเป็นสาเหตุของการปวดท้องอาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้หลอดอาหารระคายเคือง ในกรณีที่เกิดการอาเจียน กรดจากกระเพาะอาหารจะไปทำให้หลอดอาหารเกิดการระคายเคืองได้ และอาจส่งผลให้แผลในกระเพาะอาหารรุนแรงขึ้น
  • ระบบทางเดินหายใจ – กินเผ็ดมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จากอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มโรคจมูกอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ แต่มีสาเหตุมาจากอาหาร โดยทำให้มีน้ำมูกไหล มีเสมหะในคอ 

ทานเผ็ดเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง? 

1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

การกินเผ็ดมากเกินไปเป็นประจำก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้เช่นกัน เพราะการกินเผ็ดติดต่อกันจนเป็นนิสัย จะทำให้เยื่อเมือกบุในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ บวม แดง  

2. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

การทานเผ็ดจะไปกระตุ้นให้ผนังลำไส้อักเสบ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และหากเป็นคนที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังแล้ว การกินเผ็ดเพิ่มเข้าไปอีกจะยิ่งทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น คนที่กำลังอยู่ในภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไปเรื่อย ๆ โดยไม่ดูแล อาจนำไปสู่การเป็น “มะเร็งลำไส้”  

3. โรคกรดไหลย้อน

สารแคปไซซินจะไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารและจะไปกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนกลับมาที่ช่องคอ ทำให้เกิดอาการเเสบร้อนกลางทรวงอกและลิ้นปี่ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องกรดไหลย้อนอยู่แล้ว ไม่ควรกินของเผ็ดเพราะความเผ็ดจะยิ่งทำให้เกิดกรด หากกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดหูรูดหลอดอาหาร เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งหลอดอาหารในอนาคต 

การทานเผ็ดมากจนเกินไปและทานต่อเนื่องส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงควรทานเผ็ดในปริมาณที่เหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนไวต่อสารแคปไซซินในพริกมากน้อยเพียงใด